วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปัญจมหานที นัมมทานที เบญจสุทธคงคา นทีสีทันดร กกุธานที

ในจำนวนแม่น้ำทั้ง ๕ สายนั้น แม่น้ำคงคา หรือแม่คงคา เป็นแม่น้ำที่สำคัญมากที่สุด แม่คงคาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียที่เรียกว่า มัธยมประเทศ แม่คงคาไหลลงมาจากเขาหิมาลัยที่ปกคลุมด้วยหิมะ ซึ่งสมมุติว่าเป็นสวรรค์ ในมหากาพย์มหาภารตะ กล่าวว่า แม่คงคาไหลออกมาจากนิ้วหัวแม่เท้าของพระวิษณุเพื่อมาล้างบาปให้มนุษย์ แม่คงคาในสวรรค์ไหลลงมาจากปากถ้ำน้ำแข็งเหนือเทวาลัยคงโคตริและมาออก ณ ที่ซึ่งมีชื่อว่าหริทวาร ประวัติของแม่น้ำคงคาปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนาและทางวรรณคดีหลายเรื่องต่างๆกันไป แต่ทั้งหมดต่างถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถชำระล้างบาปให้แก่ผู้ที่ได้อาบกิน แม้เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ยังต้องการให้เผาศพที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ให้กระดูกและเถ้าลงไปอยู่กับแม่คงคา แม่น้ำคงคาตอนต้นน้ำมีเกาะแก่ง มีโขดหิน และมีขนาดใหญ่นัก ต่อเมื่อไหลลงมาถึงเมืองอัมหบัดแล้วจึงมีขนาดกว้างขึ้น และไหลมารวมกับแม่น้ำใหญ่อีกสายหนึ่งที่มีชื่อว่า แม่น้ำยมุนา ณ ที่ที่แม่น้ำ ๒ สายมาบรรจบกันนี้ชาวอินเดียเชื่อว่ามีแม่น้ำอีกสายหนึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ แม่น้ำสรัสวดีไหลมาทางใต้ดินและโผล่ขึ้นมารวมกับแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนา เป็นแม่น้ำที่มารวมกัน ๓ สาย จึงเรียกที่นั้นว่า จุฬาตรีคูณ ชาวฮินดูถือว่าจุฬาตรีคูณเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงพากันมาอาบกินน้ำแม่คงคา ณ ที่นั้นเพื่อล้างบาป

นทีสีทันดร แม่น้ำที่คั่นอยู่ระหว่างภูเขา ๗ ลูก ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ หนังสือเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงเขาพระสุเมรุว่า มีภูเขาน้อยๆล้อมอยู่ ๗ ชั้น ภูเขาที่อยู่ใกล้เขาพระสุเมรุที่สุด จะสูงที่สุด ภูเขาที่ห่างออกมาจะสูงลดหลั่นลงไปจนถึงภูเขาที่อยู่นอกสุดจะเตี้ยที่สุด และระหว่างแนวภูเขาแต่ละแนวจะมีแม่น้ำคั่น เรียกรวมแม่น้ำทั้งหมดนั้นว่า สีทันดรสมุทร หรือนทีสีทันดร ลักษณะสำคัญของนทีสีทันดร คือ น้ำใสบริสุทธิ์ที่สุด จนถึงขนาดที่ขนนกที่เบาที่สุดตกลงไปก็จะจมทันที ผู้ที่สามารถข้ามนทีสีทันดรได้มีแต่พญาครุฑเท่านั้น เพราะพญาครุฑมีกำลังมหาศาลจะบินผ่านแม่น้ำไปได้โดยไม่หมดกำลังเสียก่อน

กกุธานที เป็นชื่อแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพักพระวรกายขณะเสด็จไปเมืองกุสินารา พระอานนท์ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้าอยู่ได้กราบทูลเชิญให้พักเพื่อเสวยพระกระยาหารและสรงพระวรกาย และวันนั้นเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

นัมมทานที เป็นแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ริมฝั่ง รอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนี้เกิดจากการที่พญานาคได้ทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้ประทานไว้เพื่อให้หมู่มนุษย์และสัตว์ได้บูชา พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด ลอยโคม ลอยพระประทีป ซึ่งกระทำขึ้นในเดือน ๑๒ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทนี้ ปัจจุบันเมื่อมีพิธีลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน ๑๒ คนส่วนมากก็มักเชื่อว่าการลอยกระทงที่มีการจุดธูปเทียนด้วยนั้นก็เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที
เบญจสุทธคงคา เป็นคำเรียกรวมแม่น้ำ ๕ สาย ซึ่งมีน้ำที่บริสุทธิ์ น้ำจากแม่น้ำทั้ง ๕ สายนี้นำมาใช้เป็นน้ำสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ น้ำที่ตักมาเป็นน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ตอนตำบลท่าไชย น้ำจากแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ สระบุรี น้ำจากแม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ เมืองนครนายก และน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อ่างทอง ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำนครไชยศรี แม่น้ำฉะเชิงเทรา และแม่น้ำเจ้าพระยา

-ข้อมูลจาก http://www.sakulthaionline.com/

คอลัมนิสต์/นักเขียน:
ชื่อคอลัมน์:
ภาษาไทยวันนี้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น