วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ฉัพพรรณรังสี 6

ฉัพพรรณรังสี คือสีที่แผ่ออกจากพระวรกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๖ สี คือ 1 โอตาทะกัง ขาว 2 ปีตัง เหลือง 3 โลหิตัง แดง 4 นีลัง เขียว 5 มัญเญถ ชมพู 6 ปภัสสร เลื่อมพราย แสงเหล่านี้เรียกอีกอย่างว่า วรรณรังสี (แสงออร่า) ซึ่งทั้ง ๖ สีถือว่า เป็นสีมงคลของชาวพุทธ

พระพุทธรูปประจำวันอังคาร


ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา เมื่อคราวจะปรินิพพาน หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทายไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย
พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระวรกาย พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา
ลักษณะตั้งซ้อนกัน

ประวัติและความสำคัญ
พระพุทธเจ้าครั้นโปรดสุภัททปริพาชกให้บรรพชาอุปสมบทและให้สำเร็จเป็น
พระอริยเจ้าเป็นปัจฉิมสาวกแล้ว ต่อมาพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระองค์ว่า พระฉันนะ
ถือตัวว่าเป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์คราวเสด็จออกบวช เป็นคนว่ายากสอนยาก แม้จะกรุณา
เตือนแล้วก็ตาม เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ยิ่งจะว่ายากขึ้นไปอีก หาผู้ยำเกรงมิได้ ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติต่อพระฉันนะนั้นอย่างไร
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือ ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอน เมื่อถูกพรหมทัณฑ์แล้ว จะสำนึกผิดเอง ครั้นแล้วพระพุทธเจ้า
ได้ตรัสปัจฉิโมวาท เตือนว่า
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรม
เธอทั้งหลาย จงทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ในลำดับแห่งการพิจารณา
องค์แห่งจตุถฌาน ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินใหญ่ไหวสะเทือนสะท้าน เกิดการโลมชาติ
ชูชันขันพองสยองเกล้า กลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ พร้อมกับการปรินิพพานของ
พระพุทธเจ้า
บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศก ร่ำไห้ คร่ำครวญถึงพระองค์พระอานนท์
และพระอนุรุทธเถระได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชน
พุทธศาสนิกชนเมื่อรำลึกถึงการเสด็จปรินิพพานของพระองค์ จึงได้สร้าง
พระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เพื่อบูชาพระพุทธองค์

คาถาสวดบูชา
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิคุณูเปตัง
ปะริตตันตัมภะณามะ เส ฯ

*พรหมทัณฑ์ คือ โทษอย่างสูง คือ สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือสั่งสอนภิกษุรูปนั้น,

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปัญจมหานที นัมมทานที เบญจสุทธคงคา นทีสีทันดร กกุธานที

ในจำนวนแม่น้ำทั้ง ๕ สายนั้น แม่น้ำคงคา หรือแม่คงคา เป็นแม่น้ำที่สำคัญมากที่สุด แม่คงคาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียที่เรียกว่า มัธยมประเทศ แม่คงคาไหลลงมาจากเขาหิมาลัยที่ปกคลุมด้วยหิมะ ซึ่งสมมุติว่าเป็นสวรรค์ ในมหากาพย์มหาภารตะ กล่าวว่า แม่คงคาไหลออกมาจากนิ้วหัวแม่เท้าของพระวิษณุเพื่อมาล้างบาปให้มนุษย์ แม่คงคาในสวรรค์ไหลลงมาจากปากถ้ำน้ำแข็งเหนือเทวาลัยคงโคตริและมาออก ณ ที่ซึ่งมีชื่อว่าหริทวาร ประวัติของแม่น้ำคงคาปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนาและทางวรรณคดีหลายเรื่องต่างๆกันไป แต่ทั้งหมดต่างถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถชำระล้างบาปให้แก่ผู้ที่ได้อาบกิน แม้เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ยังต้องการให้เผาศพที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ให้กระดูกและเถ้าลงไปอยู่กับแม่คงคา แม่น้ำคงคาตอนต้นน้ำมีเกาะแก่ง มีโขดหิน และมีขนาดใหญ่นัก ต่อเมื่อไหลลงมาถึงเมืองอัมหบัดแล้วจึงมีขนาดกว้างขึ้น และไหลมารวมกับแม่น้ำใหญ่อีกสายหนึ่งที่มีชื่อว่า แม่น้ำยมุนา ณ ที่ที่แม่น้ำ ๒ สายมาบรรจบกันนี้ชาวอินเดียเชื่อว่ามีแม่น้ำอีกสายหนึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ แม่น้ำสรัสวดีไหลมาทางใต้ดินและโผล่ขึ้นมารวมกับแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนา เป็นแม่น้ำที่มารวมกัน ๓ สาย จึงเรียกที่นั้นว่า จุฬาตรีคูณ ชาวฮินดูถือว่าจุฬาตรีคูณเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงพากันมาอาบกินน้ำแม่คงคา ณ ที่นั้นเพื่อล้างบาป

นทีสีทันดร แม่น้ำที่คั่นอยู่ระหว่างภูเขา ๗ ลูก ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ หนังสือเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงเขาพระสุเมรุว่า มีภูเขาน้อยๆล้อมอยู่ ๗ ชั้น ภูเขาที่อยู่ใกล้เขาพระสุเมรุที่สุด จะสูงที่สุด ภูเขาที่ห่างออกมาจะสูงลดหลั่นลงไปจนถึงภูเขาที่อยู่นอกสุดจะเตี้ยที่สุด และระหว่างแนวภูเขาแต่ละแนวจะมีแม่น้ำคั่น เรียกรวมแม่น้ำทั้งหมดนั้นว่า สีทันดรสมุทร หรือนทีสีทันดร ลักษณะสำคัญของนทีสีทันดร คือ น้ำใสบริสุทธิ์ที่สุด จนถึงขนาดที่ขนนกที่เบาที่สุดตกลงไปก็จะจมทันที ผู้ที่สามารถข้ามนทีสีทันดรได้มีแต่พญาครุฑเท่านั้น เพราะพญาครุฑมีกำลังมหาศาลจะบินผ่านแม่น้ำไปได้โดยไม่หมดกำลังเสียก่อน

กกุธานที เป็นชื่อแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพักพระวรกายขณะเสด็จไปเมืองกุสินารา พระอานนท์ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้าอยู่ได้กราบทูลเชิญให้พักเพื่อเสวยพระกระยาหารและสรงพระวรกาย และวันนั้นเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

นัมมทานที เป็นแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ริมฝั่ง รอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนี้เกิดจากการที่พญานาคได้ทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้ประทานไว้เพื่อให้หมู่มนุษย์และสัตว์ได้บูชา พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด ลอยโคม ลอยพระประทีป ซึ่งกระทำขึ้นในเดือน ๑๒ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทนี้ ปัจจุบันเมื่อมีพิธีลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน ๑๒ คนส่วนมากก็มักเชื่อว่าการลอยกระทงที่มีการจุดธูปเทียนด้วยนั้นก็เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที
เบญจสุทธคงคา เป็นคำเรียกรวมแม่น้ำ ๕ สาย ซึ่งมีน้ำที่บริสุทธิ์ น้ำจากแม่น้ำทั้ง ๕ สายนี้นำมาใช้เป็นน้ำสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ น้ำที่ตักมาเป็นน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ตอนตำบลท่าไชย น้ำจากแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ สระบุรี น้ำจากแม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ เมืองนครนายก และน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อ่างทอง ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำนครไชยศรี แม่น้ำฉะเชิงเทรา และแม่น้ำเจ้าพระยา

-ข้อมูลจาก http://www.sakulthaionline.com/

คอลัมนิสต์/นักเขียน:
ชื่อคอลัมน์:
ภาษาไทยวันนี้
 

แม่น้ำสายต่างๆ ในชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล



แม่น้ำสายต่างๆ ในชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และถูกบันทึกลงในพระพุทธประวัติ ที่นำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้มีดังนี้
๑. กิมิกาฬา พระมหาสาวกเมฆิยะ ผู้เคยเป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า คราวหนึ่งได้เห็นส่วนมะม่วมริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬน่ารื่นรมย์จึงขอลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้น พระพุทธเจ้าห้ามไม่ฟังพระเมฆิยะไปบำเพ็ญเพียรถูกอกุศลวิตกต่าง ๆ รบกวน ในที่สุดต้องกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธรรม ๕ ประการสำหรับบ่มเจโตวิมุติ (การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ) จึงได้สำเร็จพระอรหัต
๒. กกุธานที ไหลผ่านดินแดนระหว่างเมืองปาวากับเมืองกุสินาราแคว้นมัลละ พระอานนท์ทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้า เสด็จลงเสวยและชำระพระกายที่ตรากตรำมาในระยะทางจากเมืองปาวาไปเมืองกุสินาราในวันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพาน
๓. คงคา เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เกิดที่ภูเขาหิมพานต์ มีความยาวถึงประมาณ ๒,๕๐๐ กิโลเมตร ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำคงคากับยมุนาบรรจบกันเป็นอาณาบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่ตั้งของนครและแว่นแคว้นที่มีความสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่า ปัญจมหานที บรรดาแคว้นในมหาชนบท ๑๖ ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำคงคามีดังนี้
แคว้นอังคะ ตั้งอยู่ปลายแม่น้ำคงคา
แคว้นมคธ ตั้งอยู่ใต้แม่น้ำคงคาตอนกลาง
แคว้นโกศล ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำคงคาตอนกลาง
แคว้นกาสี ตั้งอยู่ตอนบรรจบของแม่น้ำคงคาและยมุนา
แคว้นปัญจาละ ตั้งอยู่ตรงลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบนนครหลวงกัมปิละ ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำคงคา
นอกจากนั้นนครมิถิลา เมืองหลวงของแคว้นวิเทหะ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา ตอนกลาง ตรงข้ามกับแคว้นมคธ


๔. คันธกะ แม่น้ำคันธกะไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกของแคว้นวัชชี ส่วนเมืองกุสินารานครหลวงของแคว้นมัลละ ตั้งอยู่ที่จุดบรรจบของแม่น้ำคันธกะ กับแม่น้ำอจิรวดี (หนึ่งในปัญจมหานที)

๕.โคธารวรี แคว้นอัสสกะ ตั้งอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำโคธาวรี พราหมณ์พาวรีอาจารญ์ใหญ่ตั้งอาศรมสอนไตรเพทอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ณ สุด เขตแดนแคว้นอัสสกะ พราหมณพาวรีได้ส่งศิษย์ ๑๖ คนเดินทางไปถามปัญหาพระพุทธเจ้า ณ ปาสาณเจดีย์ ในแคว้นมคธ

๖. จัมปา แม่น้ำจัมปาไหลกั้นแดนระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นอังคะ

๗. นัมมทา แม่น้ำนัมมทาไหลผ่านแคว้นสุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา เมื่อพระพุทธเจ้าองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชาวสุนาปรันตะและนัมมทานาคราช นาคราชขอของที่ระลึกไว้บูชา จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

๘. เนรัญชรา แม่น้ำเนรัญชราไหลผ่านแคว้นมคธ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมซึ่งตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา อันเป็นภูมิสถานที่สงบน่ารื่นรมย์พระมหาบุรุษทรงเลือกที่แห่งนี้เป็นที่บำเพ็ญเพียร ทรงประทับอยู่ ณ ที่นี้ นานถึง ๖ ปี พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชณิมาปฏิปทา จนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธญาณ ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ ในตำบลนี่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแห่งนี้

๙. ปัญจมหานที คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย อันมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมพานต์ (หิมาลัย) ซึ่งแถบเชิงเขาปกคลุมไปด้วยป่าไม้ใหญ่มีฝนตกชุก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายไหลลงมาทางใต้ ปัญจมหานที (หรือปัญจนที) คือ ๑.แม่น้ำคงคา ๒.แม่น้ำยมุนา ๓. แม่น้ำอจิรวดี (หรือแม่น้ำรับดิ) ๔. แม่น้ำสรภู ๕.แม่น้ำมหี

๑๐.ภาคะรถี แม่น้ำภาคีรถีเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำคงคาตอนบนแม่น้ำภาคีรถีไหลผ่านแคว้นปัญจาละ



๑๑. มหี แม่น้ำเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่าปัญจมหานที

๑๒. ยมุนา แม่น้ำยมุนาเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่า ปัญจมหานที บรรดาแคว้นในมหาชนบท ๑๖ ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยมุนามีดังนี้
แคว้นกาสี ตั้งอยู่ตอนบรรจบของแม่น้ำยมุนาและคงคา
แคว้นวังสะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำยมุนา นครหลงชื่อกรุงโกสัมพี ตั้งอยู่เหนือฝั่งแม่น้ำยมุนา
แคว้นกุรุ ตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำยมุนาตอนบน
แคว้นมัจฉะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับตอนบน
แคว้นสุรเสนะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำยมุนาตอนล่าง

๑๓. โรหิณี แม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นศายะกับแคว้นโกลิยะ แคว้นทั้งสองได้เกิดกรณีพิพาทอันมีมูลเหตุจากการแย่งกันใช้น้ำจากแม่น้ำโรหิณีเพื่อทำการเกษตร จนเกือบจะเกิดสงคราม พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาระงับการวิวาทระหว่างพระญาติทั้ง ๒ ฝ่ายจนสงบลงได้
พระมหาสาวกอานนท์ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากประจำประองค์ของพระพุทธเจ้า เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ครั้นเมื่อพระอานนท์ดำรงชีวิตสืบมาจนอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติทั้งสองฝ่ายคือ ศากยะและโกลิยะ

 ๑๔. วัคคุมุทา พระมหาสาวกยโสชะ เป็นบุตรหัวหน้าชาวประมงใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนากปิลสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมาไปเจริญสมณธรรมที่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมาทา ได้สำเร็จพระอรหัต

๑๕. สรภู แม่น้ำสรภูเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่า ปัญจมหานที

๑๖. สัลลวตี แม่น้ำสัลลวตีเป็นแม่น้ำที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบทหรือถิ่นกลางที่มีความเจริญรุ่งเรือง กับปัจจันตชนบทหรือหัวเมืองชั้นนอกถิ่นที่ยังไม่เจริญ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ นับจากแม่น้ำสัลลวตีเข้ามาถือเป็นเขตมัชฌิมชนบท

๑๗. สินธุ แม่น้ำสินธุไหลผ่านแคว้นในมหาชนบท ๑๖ ดังนี้
แคว้นมัจฉะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำยมุนาตอนบน
แคว้นสุรเสนะ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำยมุนาตอนล่าง
แคว้นคันธาระ ตั้งอยู่ทางลุ่มแม่น้ำสิธุตอนบน

๑๘. โสน แคว้นมคธตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโสนกับแคว้นอังคะ โดยมีแม่น้ำคงคาอยู่ทางทิศเหนือ มีภูเขาวินทัยอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก

๑๙.หิรัญวดี แม่น้ำหิรัญวดีนับเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสด็จข้าม โดยพระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกุสินาราในวันที่จะดับขันธปรินิพาน ทรงข้ามแม่น้ำหิรัญวดีเข้าสู่สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำแห่งนี้ ณ สาลวโนทยาน พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแม่น้ำหิรัญวดี ไหลลงไปบรรจบกับแม่น้ำสรภู

 ๒๐. อจิรวดี แม่น้ำอจิรวดี เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่าปัญจมหานที แม่น้ำอจิรวดี (หรือที่เรียกว่ารับดิ) มีพระนครสาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศลตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำ และจุดที่บรรจบของแม่น้ำอจิรวดีกับแม่น้ำคันธกะเป็นที่ตั้งของนครกุสินาราเมืองหลวงของแคว้นมัลละ

๒๑. อโนมา แม่น้ำอโนมากั้นพรมแดนระหว่งแคว้นสักะกับแคว้นมัลละ เมื่อพระสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ยามเที่ยงคืน ครั้นยามเช่ามาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสสั่งให้นายฉันนะอำมาตย์คนสนิทนำม้าพระที่นั่งและเครื่องประดับสำหรับขัตติราชทั้งหมดกลับคืนพระนคร ทรงตัดพระเมลีด้วยพระขรรค์อธิฐานเพศพรรพชิต ณ ฝั่งแม่น้ำอนโนมานี้

๒๒. อสิคนี แม่น้ำอสิคนี หรือจันทรภาค ไหลผ่านแคว้นมัททะนครหลวงชื่อสาคละ ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำอสิคนีหรือจันทรภาคบุตรแม่น้ำมหานที และแม่น้ำกฤษณาไว้อีกด้วย

-ขอบคุณข้อมูลจาก
ttp://www.dhammathai.org/buddha/g49.php
 

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ครอบครองแก้ว 7 ประการ

แก้ว 7 ประการ
พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ครอบครองแก้ว 7 ประการ อันได้แก่
จักรแก้ว (จกฺกรตฺตนํ)
เมื่อผู้ที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ พระองค์ทรงรักษาศีลอุโบสถ ชำระจิตให้สะอาดแล้วทรงทำสมาธิ จักรแก้วก็บังเกิดขึ้น ทำจากโลหะมีค่า ส่องแสงสว่างไสว แล้วพาพระเจ้าจักรพรรดิพร้อมเหล่าเสนาบดีลอยไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปทั้ง 4 ประเทศต่างๆ ก็ยอมสวามิภักดิ์ ไม่มีการสู้รบกัน เมื่อจะถวายเครื่องบรรณาการพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่ยอมรับแต่พระราชทานโอวาทศีล 5 ให้
ช้างแก้ว (หตฺถีรตฺตนํ)
ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาช้าง มีชื่อว่า อุโบสถ สีขาวเผือก สง่างาม มีฤทธิ์เดชสามารถเหาะได้ คล่องแคล่วว่องไว ฝึกหัดได้เอง สามารถพาพระเจ้าจักรพรรดิไปรอบชมพูทวีป จรดขอบมหาสมุทร ได้ตั้งแต่เช้ารุ่ง และกลับมาทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า
ม้าแก้ว (อสฺสรตฺตนํ)
ม้าแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาม้า มีชื่อว่า วลาหกะ เป็นอัศวราชผู้สง่างาม ขนงาม มีหางเป็นพวง ตรงปลายคล้ายดอกบัวตูม มีฤทธิ์เดชเหาะเหินเดินบนอากาศได้ คล่องแคล่วว่องไง ฝึกหัดได้เอง สามารถพาพระเจ้าจักรพรรดิไปรอบชมพูทวีป จรดขอบมหาสมุทร ได้ตั้งแต่เช้ารุ่ง และกลับมาทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า
มณีแก้ว (มณิรตฺตนํ)
มณีแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นแก้วมณีเปล่งแสงสุกสกาว ใสแวววาวยิ่งกว่าเพชร เปล่งรังสีแสงสว่างไสวโดยรอบถึง 1 โยชน์ คอยบันดาลความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างให้บังเกิดขึ้น ดึงดูดสมบัติทั้งหลายมาให้ สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งชมพูทวีปโดยไม่ต้องทำมาหากิน เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทดลองแก้วมณีกับกองทัพ โดยติดแก้วมณีไว้บนยอดธงนำทัพ แก้วมณีก็เปล่งแสงสว่างไสว ทำให้กองทัพเดินทางได้สะดวกสบาย เหมือนเดินทัพในเวลากลางวัน
นางแก้ว (อิตถรตฺตนํ)
นางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นหญิงที่มีบุญญาธิการ รูปร่างน่าดูชม ผิวพรรณเปล่งปลั่งผ่องใส สวยงามกว่ามนุษย์ทั่วไป พูดจาไพเราะ ไม่โกหก มีกลิ่นดอกบัวหอมฟุ้งออกจากปาก มีกลิ่นจันทน์หอมฟุ้งรอบกาย นางแก้วเป็นผู้คอยปรนนิบัติพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไม่ขาดสาย ตื่นก่อนนอนทีหลังพระเจ้าจักรพรรดิ คอยฟังรับสั่งของพระเจ้าจักรพรรดิ ประพฤติชอบต่อพระเจ้าจักรพรรดิเสมอ
ขุนคลังแก้ว (คหปติรตฺตนํ)
คฤหบดีแก้ว หรือขุนคลังแก้ว สามารถนำทรัพย์สินมาให้แด่พระเจ้าจักรพรรดิได้ ขุมทรัพย์อยู่ที่ไหน ขุนคลังแก้วเห็นหมด
ขุนพลแก้ว (ปริณายกรตฺตนํ)
ปริณายกแก้ว หรือขุนพลแก้ว คือพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นขุนศึกคู่ใจ เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ มีความฉลาดเฉลียว รู้สิ่งใดควรไม่ควร คอยให้คำแนะนำปรึกษาแด่พระเจ้าจักรพรรดิอยู่เสมอ

 อานิสงส์ผลบุญที่ทำให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
  1. ทำบุญทำทานด้วยจิตใจงดงาม
  2. เป็นเจ้าในงานทอดกฐิน หรือเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัด พระอุโบสถ พระวิหาร พระพุทธรูป ฯลฯ
  3. เป็นประธานในการเทศนาธรรม การสังคายนาพระไตรปิฏก ฯลฯ
  4. บูชาเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ความพิเศษของพระเจ้าจักรพรรดิ


พระเจ้าจักรพรรดิมีพระวรกายงดงามยิ่งกว่ามนุษย์ใดๆ
พระเจ้าจักรพรรดิมีอายุยืนกว่ามนุษย์ใดๆ
มีอาพาธน้อย เจ็บป่วยได้ยากกว่าคนทั่วไป
พระเจ้าจักรพรรดิเป็นที่รักของมนุษย์และ
เทวดา แม้แต่เทวดาก็ยังเกรงใจ

 ประเภทของพระเจ้าจักรพรรดิ

พระเจ้าจักรพรรดินั้นยังแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทอีก ได้แก่
จักรพรรดิทอง
คือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครองทั้ง 4 ทวีป ตั้งแต่ประสูติ โดยมิต้องทำการรบพุ่งแย่งชิงมา
จักรพรรดิเงิน
คือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครอง 3 ทวีป ตั้งแต่ประสูติ โดยมิต้องทำการรบพุ่งแย่งชิงมา
จักรพรรดิทองแดง
คือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครอง 2 ทวีป แต่มิได้ครอบครองเช่นนี้มาตั้งแต่ประสูติ ต้องทำสงครามรบพุ่งแย่งชิงมา
จักรพรรดิเหล็ก
คือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครองได้เฉพาะชมพูทวีป โดยทำสงครามรบพุ่งแย่งชิงมา ซึ่งพระจักรพรรดิเหล็กนี้เป็นสถานะพระจักรพรรดิที่เป็นไปได้ในโลกแห่งความจริง ซึ่งคติความเชื่อในเรื่องจักรพรรดิเหล็กนั้น ได้ปลูกฝังในระบอบคิดของกษัตริย์ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเป็นหลักมาแต่ครั้งโบราณกาล

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4